วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2567 พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการติดตามเร่งรัดการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด (ศปก.ครส.) ครั้งที่ 12/2567 โดยมีที่ปรึกษา ประกอบด้วย นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ พร้อมด้วย คณะกรรมการฯ อาทิ นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายแพทย์ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด พันเอก รังสฤษดิ์ นาคเมือง ผู้อำนวยการกอง กรมยุทธการทหารบก รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ สำนักงาน ป.ป.ส. และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในพื้นที่ 25 จังหวัดนำร่อง ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ สำนักงาน ป.ป.ส.
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ ย้ำผลการดำเนินงานในพื้นที่ 25 จังหวัดนำร่อง ประสบความสำเร็จ บรรลุเป้าหมายในทุกมิติ ได้แก่ ด้านการปราบปราม ด้านการบำบัดรักษา และด้านการป้องกัน โดยเฉพาะการดำเนินการจับกุมข้อหาความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด การนำผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูฯ การควบคุมปัจจัยเสี่ยงโดยจัดระเบียบสังคมในสถานบันเทิง/สถานบริการ และบริเวณรอบสถานศึกษาในพื้นที่เป้าหมายที่เป็นชุมชนแพร่ระบาดยาเสพติด โดยเป็นความร่วมมือสำคัญระหว่าง สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กรมคุมประพฤติ และผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 25 จังหวัด ในการเข้าร่วมประชุมเพื่อกำกับติดตามผลการปฏิบัติงานให้บรรลุตามเป้าหมายและตัวชี้วัดที่กำหนด ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ส. ได้ประสานกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ในการประเมินผลลัพธ์ ประกอบด้วย 4 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1. กลุ่มเป้าถูกดำเนินการและได้รับการแก้ไขปัญหา 2. สถานการณ์ปัญหายาเสพติดลดลงทุกจังหวัด 3. ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในแต่ละจังหวัดเพิ่มสูงขึ้น 4. ความพึงพอใจของประชาชนต่อการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดในแต่ละจังหวัดเพิ่มสูงขึ้น โดยจังหวัดที่ได้คะแนนประเมินผลการดำเนินงานสูงสุด 3 จังหวัดแรก ได้แก่ ชลบุรีได้รับการประเมิน 97.70 คะแนน ปัตตานีได้รับการประเมิน 96 คะแนน และสมุทรปราการได้รับการประเมิน 94 คะแนน ตามลำดับ เป็นการสะท้อนความขยันในการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดที่กระตุ้นให้หน่วยงานต่าง ๆ ภายในจังหวัดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความพยายามสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนได้รับรู้ รับทราบ ถึงความ ตั้งใจในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประชุมร่วมกับ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานสถานการณ์ยาเสพติดและ วางแผนการทำงานร่วมกัน โดยมุ่งเน้นไปที่ 1.การยกระดับการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด และ อ.ท่าวังผา จ.น่าน โดยตั้งเป้าให้เป็นจังหวัดสีขาว ภายใน 30 กันยายน 2567 2.ยกระดับการปราบปรามยาเสพติดให้มีความเด็ดขาด จริงจังยิ่งขึ้น ทั้งผู้ค้ารายใหญ่ ผู้ค้ารายย่อย และตัวยาเสพติด เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและลดผลกระทบจากยาเสพติดในสังคม 3.เร่งรัดการจ่ายเงินสินบนรางวัลนำจับให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด โดยเฉพาะทหาร เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติให้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อสนับสนุนและขอบคุณเจ้าหน้าที่ผู้เสียสละในการทำงานอันตรายนี้ 4.บูรณาการการปฏิบัติและกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการยึดทรัพย์คดียาเสพติดให้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อตัดเส้นทางการเงินของเครือข่ายยาเสพติดและลดอิทธิพล 5.ทบทวนการปฏิบัติและประเมินผลการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยใช้กลไก ครส. และ ศปก.ครส. เพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนาม 6.ให้พัฒนาระบบการประมวลผลข้อมูล Dash Board การแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้เสมือนกับการรายงานสถานการณ์ COVID-19 เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สถานการณ์ การวางแผน และเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจให้กับผู้บริหารระดับสูง และเชื่อมต่อไปสู่ระบบศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) 7.ให้ขยายปฏิบัติการเร่งรัดฯ ในพื้นที่ 25 จังหวัด ขยายสู่ 77 จังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พร้อมเน้นย้ำว่า การประชุมกับนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการผลักดันและยกระดับการทำงานด้านยาเสพติด ให้มีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ยังได้กล่าวชื่นชมและขอบคุณทุกหน่วยงานโดยเฉพาะ 25 จังหวัดเป้าหมายที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติงานอย่างจริงจัง ตลอดระยะเวลา 3 เดือนส่งผลให้สามารถดำเนินการกวาดล้างยาเสพติดในพื้นที่แพร่ระบาด สามารถดำเนินการได้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในทุกประเด็น ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นและความพึงพอใจแก่ประชาชน และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ศปก.ครส. จะนำผลการปฏิบัติงานในพื้นที่ 25 จังหวัดนำร่อง มาถอดบทเรียนเพื่อขยายผลเป็นแนวทางการปฏิบัติงานให้ครบ 77 จังหวัดต่อไป โดย ศปก.ครส. จะดำเนินการจัดทำแผนการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับพื้นที่แต่ละจังหวัดเพื่อเป็นแนวปฏิบัติในปีงบประมาณ 2568 มุ่งสู่การสร้างสังคมไทยให้ปลอดภัยจากยาเสพติดต่อไป